จุลลกเศรษฐีชาดก :: สาเหตุที่ตรัสชาดก ::
.... ในสมัยพุทธกาล มีธิดาของเศรษฐีผู้หนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ ลอบได้เสียกับทาสชายในบ้าน แล้วจึงพากันหนีไป ต่อมานางมีบุตรชาย ๒ คน คนโตชื่อว่า มหาปันถก และคนน้องชื่อจุลปันถก พอเด็กน้อยโตขึ้นถามถึงญาติพี่น้อง มารดาเล่าเรื่องตายายให้ฟัง เด็กน้อยรบเร้าอยากให้ไปหาอยู่บ่อยๆ สองสามีภรรยาจึงพาครอบครัวไปยังเมืองราชคฤห์ แต่บิดามารดาไม่ยอมรับสามีภรรยาแต่จะขอหลานไปเลี้ยงไว้ ซึ่งทั้งสองก็ยอมแต่โดยดี
.....เด็กทั้งสองอยู่กับตายายจนเจริญวัยขึ้น มหาปันถก ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาจึงออกบวช เมื่อบวชแล้ว ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ต่อมานึกถึงน้องชายจึงพามาบวชด้วย แต่พระน้องชายบวชแล้วเป็นคนปัญญาทึบ แม้ให้ท่องคาถาสั้นๆ เพียง ๑ บท ถึง ๔ เดือนก็ท่องไม่ได้ พระพี่ชายจึงไล่ให้ลึกเสีย ทำให้พระจุลลปันถกมีความเสียใจมาก
.....สมัยนั้น พระมหาปันถกรับหน้าที่เป็น ภัตตุเทศก์ เมื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์นิมนต์พระบรมศาสดาและพระภิกษุทั้งหลายไปฉันภัตตาหารที่บ้าน พระมหาปันถกรับนิมนต์ไว้หมด เว้นแต่พระจุลลปันถกรูปเดียว ทำให้พระจุลลปันถกน้อยใจคิดอยากจะสึก เช้าวันนั้น พระบรมศาสดาทรงสอดข่ายพระญาณ จึงเสด็จไปโปรดพระจุลปันถก โดยประทานผ้าขาวบริสุทธิ์ผืนหนึ่งแก่พระจุลลปันถก ตรัสให้ลูบคลำผ้าผืนนั้น พร้อมบริกรรมภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วเสด็จไปบ้านหมอชีวก ฝ่ายพระจุลลปันถกลูบคลำผ้าไปเรื่อยๆ จนเห็นผ้าหมองคล้ำ จึงเกิดความสลดใจ แล้วพิจารณาธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง
.....ที่บ้านหมอชีวก พระบรมศาสดามิได้กระทำอนุโมทนา ตรัสว่า ในวัดยังมีเหลือพระภิกษุอยู่รูปหนึ่ง หมอชีวกจึงส่งคนไปดู ปรากฏว่าคนรับใช้เห็นพระภิกษุพันรูปเต็มวัดไปหมด ที่พระจุลปันถกเนรมิตไว้ด้วยฤทธิ์ คนรับใช้วิ่งกลับไปบอกหมอชีวก พระบรมศาสดาจึีงรับสั่งว่า ให้เรียกชื่อดังๆ หากรูปไหนขานรับขึ้นก่อนให้จับมือพระรูปนั้นไว้ แล้วพามายังที่นิมนต์ คนรับใช้ก็ทำตาม เมื่อพระจุลลปันถกมาถึงแล้วได้รับภัตตาหารพร้อมทั้งอนุโมทนา
.....วันรุ่งขึ้น พระภิกษุต่างพากันสรรเสริญพระคุณของพระบรมศาสดา ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบความแล้ว จึงทรงระลึกชาติหนหลัง แล้วตรัสเล่า จุลลกเศรษฐีชาดก
:: ข้อคิดจากชาดก :: (๑) ข้อคิดสำหรับผู้เริ่มสร้างฐานะ ๑.๑. ไม่เป็นคนเลือกงาน ๑.๒. ไม่เป็นคนเกียจคร้าน ๑.๓. ไม่เป็นคนทำงานสะเพร่า
.....(๒) คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องประกอบด้วยองค์คุณ ๔ ประการ คือ ๑. เป็นผู้มีความรู้ดี ๒. เป็นผู้มีความสามารถดี ๓. เป็นผู้มีความประพฤติดี ๔. เป็นผู้มีบุญเก่าสร้างสมไว้ดี
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น