กลองเป็นเหตุ
ณ เมืองหนึ่ง มีชายคนหนึ่งมีฝีมือในการตีกลองได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ไม่มีใครมีฝีมือเทียบเท่าได้ คือตีกลองได้ทั้งจังหวะและความไพเราะ ทุก ๆ วันชายตีกลองผู้นี้จะออกไปตีกลองตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแลกกับเงินที่ผู้ชมมาบริจาคให้แก่เขาด้วยความเต็มใจ เพราะชอบในฝีมือการตีกลองของเขา เขาจึงมีเงินเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่เดือดร้อน
ชายผู้นี้มีบุตรชายคนหนึ่งกำลังอยู่ในวัยรุ่น และเขาก็ได้สอนให้ลูกชายของเขาฝึกตีกลองเป็นจังหวะต่าง ๆ จนได้ครบทุกจังหวะเรียกได้ว่ามีฝีมือใกล้เคียงกับพ่อมากทีเดียว ฉะนั้นเมื่อไปตีกลองที่ไหนสองพ่อลูกนี้ก็จะตีกลองสลับสอดรับกันไปมา ทำให้เสียงกลองเร้าใจผู้ฟังมากยิ่งขึ้น วันหนึ่งมีงานนักขัตฤกษ์ในเมือง ผู้เป็นพ่อจึงพูดกับลูกว่า
“ลูกเอ๊ย วันนี้มีงานในเมือง คนคงมาเที่ยวงานกันมาก เราไปตีกลองหาเงินกันมั้ยลูก”
“ไปซิพ่อ ผมก็คิดจะชวนพ่ออยู่เหมือนกัน เราอาจได้เงินเป็นจำนวนมากก็ได้” ลูกชายตอบ
ทั้งสองพ่อลูกรีบเดินทางเข้าไปในเมืองทันที เมื่อถึงสถานที่จัดงานแล้วก็เลือกหาที่แสดง ช่วยกันตั้งกลองเสร็จแล้วทั้งสองพ่อลูกก็เริ่มบรรเลงกลองขึ้น ผู้คนที่มาเที่ยวงาน เมื่อได้ยินเสียงกลองต่างก็พากันมายืนชมการตีกลองของทั้งสองพ่อลูกอย่างพออกพอใจ พร้อมทั้งได้บริจาคเงินให้แก่สองพ่อลูกนั้นเป็นจำนวนมาก
พองานเลิกก็ดึกมากแล้ว ครั้นจะอยู่พักค้างคืนที่นี่ วันพรุ่งนี้ก็จะต้องเดินทางไปตีกลองยังเมืองอื่นอีก เกรงว่าจะไปไม่ทัน ฉะนั้นสองพ่อลูกจึงช่วยกันเก็บข้าวเก็บของ พร้อมกับเงินใส่ถุงย่างรีบเดินกลับบ้านทันที เผอิญทางที่เดินกลับบ้านนั้นเป็นทางเปลี่ยว มีโจรผู้ร้ายคอยดักจี้ปล้นผู้คนที่เดินผ่านไปมาอยู่เสมอ เมื่อเดินทางมาได้สักพักพ่อจึงบอกแก่ลูกชายว่า
“ลูกเอ๊ย ทางที่เราจะต้องเดินทางผ่านไปนี่เป็นทางเปลี่ยว มีโจรผู้ร้ายชุกชุมมาก เพื่อป้องกันไม่ให้โจรมาปล้นเรา พ่อขอให้เจ้าตีกลองเป็นจังหวะการเดินทัพนะลูกนะ”
“ทำไมจะต้องตีกลองจังหวะการเดินทัพด้วยเล่าพ่อ มันไม่เห็นจะเกี่ยวกันเลย” ลูกชายถามด้วยความสงสัย
“เกี่ยวซิลูก ทำไมไม่เกี่ยวล่ะ เพราะถ้าโจรมันได้ยินเสียงกลองในจังหวะการเดินทัพ มันก็จะกลัว จะพากันหนีไปหมด และมันก็จะไม่มาปล้นเราไงลูก” พ่ออธิบาย
“ครับงั้นผมจะตีกลองเป็นจังหวะการเดินทัพเลยนะพ่อ” ลูกชายรับคำ
เมื่อโจรได้ยินเสียงกลองตีเป็นจังหวะการเดินทัพ มันคิดว่ากระบวนทัพของพระราชากำลังยกมา มันจึงพากันวิ่งหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต วิ่งไปได้สักพักหนึ่งก็หยุดพักเหนื่อยอยู่กลางป่า
ฝ่ายลูกชายเมื่อตีกลองจังหวะยกทัพไปได้สักพักหนึ่งก็เกิดสนุกขึ้นมา เขาจึงเปลี่ยนจังหวะการตีกลองเป็นจังหวะอื่น ๆ หลาย ๆ จังหวะเท่าที่เขาตีได้สลับกันไปมา อย่างคึกคะนอง โดยไม่ปฏิบัติตามคำที่พ่อสั่ง พ่อจะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง ยังคงตีกลองอย่างนั้นเรื่อยไป
ฝ่ายนายโจรนั่งพักอยู่กับลูกน้องได้ยินเสียงกลองเป็นจังหวะต่าง ๆ สลับกัน ไม่ใช่จังหวะการเดินทัพ จึงกล่าวแก่ลูกสมุนว่า
“เฮ้ย เราถูกหลอกเสียแล้วมั้งเนี่ย พวกเอ็งลองฟังเสียงตีกลองซิ มันไม่ได้ตีเป็นจังหวะการเดินทัพนี่ แต่มันตีเป็นจังหวะต่าง ๆ สลับกัน ข้าว่าคงเป็นฝีมือการตีกลองของสองพ่อลูกที่ออกไปตีกลองหาเงินแล้วเดินทางกลับบ้านเสียมากกว่า”
“งั้นเราจะทำอย่างไรกันดีละนาย” ลูกสมุนโจรถาม
“เอายังงี้ก็แล้วกัน พวกเรารีบวิ่งตามเสียงกลองนั้นไป เพื่อดูว่าใครกันแน่ที่ตีกลองนั้น ถ้าเป็นสองพ่อลูกเราก็จะได้ปล้นมันเสียเลย” นายโจรสั่งการ
แล้วนายโจรและลูกสมุนต่างก็วิ่งตามเสียงกลองนั้น เมื่อไปทันเห็นสองพ่อลูกกำลังเดินกันอยู่ นายโจรจึงตะโกนว่า
“หยุด แล้วส่งเงินทั้งหมดมาให้ข้าเดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นแกสองคนพ่อลูกจะต้องตาย”
“อย่าทำร้ายข้าทั้งสองคนเลย ข้ากลัวแล้ว เอ้า เอาเงินไป” ชายผู้เป็นพ่อพูดด้วยเสียงสั่นเครือ พร้อมทั้งส่งถุงย่ามที่ใส่เงินให้แก่นายโจร
นายโจรรับถุงย่ามมาตรวจดู เห็นมีเงินอยู่เป็นจำนวนมากก็ดีใจ และพูดขึ้นว่า
“แกสองคนพ่อลูกไปได้แล้ว และรีบไปเร็ว ๆ ด้วย อย่าให้ข้าเห็นหน้าอีก รีบไปเลยไป”
สองพ่อลูกต่างพากันรีบเดินกลับบ้านด้วยความเสียใจ แล้วพ่อก็เอ่ยปากพูดกับลูกว่า
“ลูกเอ๋ย นี่ถ้าเจ้าเชื่อฟังพ่อเรื่องอย่างนี้คงไม่เกิดขึ้น พ่อขอบอกเจ้าว่า ตั้งแต่นี้ไปขอให้เจ้าจงเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ อย่าได้ดื้อรั้นอย่างนี้อีก ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ควรจดจำ”
“ครับพ่อ ผมผิดไปแล้ว ผมขอสัญญาว่า ต่อไปนี้ผมจะเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่และผู้หลักผู้ใหญ่ทุกคน” ลูกชายสารภาพผิดพร้อมทั้งให้สัญญา
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
๑. การมีความรู้ความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งอย่างเชี่ยวชาญ สามารถนำความรู้ความสามารถนั้น มาทำเป็นอาชีพที่มั่นคงได้
๒. การเป็นคนดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของผู้ใหญ่ ย่อมทำให้ได้รับความเดือดร้อน
๓. ผู้น้อยควรเชื่อฟัง คำแนะนำสั่งสอนของผู้ใหญ่ เพราะ ผู้ใหญ่ย่อมมีประสบการณ์ เคยพบเห็นสิ่งต่าง ๆ มาก่อน